โรคขาดสารอาหาร เป็นภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยอาจมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ กระดูกหยุดเจริญเติบโต หรือมีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งโรคขาดสารอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที อาจมีอาการร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของโรคขาดสารอาหาร
อาการของโรคนี้ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายขาดสารอาหารชนิดใด ซึ่งอาการโดยทั่วไปที่อาจสังเกตได้ มีดังนี้
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผมร่วง
- ตัวซีด
- ง่วง อ่อนเพลีย
- เวียนศีรษะ
- มีความอยากอาหารที่ผิดปกติ
- มีปัญหาในการย่อยอาหาร ซึ่งอาจทำให้ท้องผูก
- รู้สึกเสียวหรือชาที่ข้อต่อ
- ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย
- หดหู่ ซึมเศร้า
- มีปัญหาด้านการหายใจ
- ใจสั่น
- เป็นลมหมดสติ
- ติดเชื้อหรือเจ็บป่วยง่าย ป่วยแล้วหายช้ากว่าปกติ
- ผู้ป่วยเด็กอาจเจริญเติบโตช้า หรือมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจเคยชินกับอาการของโรคจนไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ และไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น หากมีอาการดังข้างต้น โดยเฉพาะอาการอ่อนเพลียหรือไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ เป็นเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
สาเหตุของโรคขาดสารอาหาร
โรคขาดสารอาหารอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ไม่เต็มที่ หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ดังนี้
ปัจจัยทางสุขภาพ
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคคลั่งผอม เป็นต้น
- ปัญหาทางจิตใจ โดยอาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือโรคจิตเภท ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์และทำให้ความอยากอาหารลดลง
- อาการป่วยที่อาจทำให้ความอยากอาหารลดลง เช่น อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
- โรคหรือภาวะที่ส่งผลต่อการดูดซึมและการย่อยอาหารของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดธาตุบางชนิด เช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคเซลิแอค ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล โรคโครห์น หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดมีแผล เป็นต้น
- การตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ต้องถ่ายโอนธาตุเหล็กไปเลี้ยงทารกในครรภ์
- การผ่าตัดลดความอ้วน ซึ่งเป็นการผ่าตัดทำให้ขนาดของกระเพาะอาหารเล็กลง เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง
- ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยลืมรับประทานอาหาร
- โรคที่ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง ซึ่งทำให้การทำอาหารเองหรือการออกไปซื้ออาหารกลายเป็นเรื่องลำบาก
- สภาพร่างกาย เช่น มีฟันอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ หรือใส่เครื่องมือจัดฟันที่ไม่พอดีกับปาก ซึ่งอาจทำให้การรับประทานอาหารเป็นเรื่องยากและอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย หรืออาเจียน เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
ปัจจัยอื่น ๆ
บางคนหรือบางกลุ่มอาจต้องอดอาหารด้วยเหตุผลบางประการ เช่น
- มีฐานะยากจน หรืออยู่ในพื้นที่แร้นแค้นขาดแคลนอาหาร
- อาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือปลีกตัวออกจากสังคมภายนอก
- มีความรู้ในเรื่องการทำอาหารหรือโภชนาการค่อนข้างจำกัด
- กลุ่มมังสวิรัติ
นอกจากนี้ คนที่มีปัญหาหรือภาวะสุขภาพบางอย่างอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารอาหารได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร ผู้ที่ร่างกายต้องการพลังงานมากเป็นพิเศษ ผู้ที่มีแผลบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟไหม้ และผู้สูงอายุ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคขาดสารอาหาร
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจซักประวัติผู้ป่วย สอบถามเกี่ยวกับอาการป่วย และประเมินภาวะโภชนาการโดยสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน และนิสัยการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ แพทย์อาจสอบถามด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือมีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่ จากนั้นอาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของระดับสารเคมีในเลือด และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ซึ่งช่วยตรวจหาภาวะโลหิตจางด้วยเช่นกัน
การรักษาโรคขาดสารอาหาร
การรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของผู้ป่วย สารอาหารที่ร่างกายขาด และความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาโดยทั่วไปอาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ให้แคลอรี่จำนวนมากแก่ร่างกาย ซึ่งหากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้าพบนักโภชนาการด้วย เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
การรับประทานอาหารเสริม
ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเสริมร่วมกับวิตามินอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารเสริมที่รับประทานเข้าไปก่อนหน้าได้ ซึ่งระยะเวลาและปริมาณในการรับประทานอาหารเสริมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย
การให้สารอาหารผ่านทางสายยาง
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป โดยวิธีนี้อาจใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร ซึ่งอาจทำได้โดยสอดสายยางผ่านจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือสอดสายยางผ่านผิวหนังบริเวณกระเพาะอาหารเข้าไปยังกระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ อาจให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำได้เช่นกัน
การดูแลพิเศษ
ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารอาหารจากโรคบางชนิดอาจมีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายร่วมด้วย ซึ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการรับประทานอาหารโดยสังเกตจากกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย โดยผู้เชี่ยวชาญจะคอยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้ รวมทั้งแนะนำวิธีออกกำลังกายแก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการกลืนอาหาร และสอนให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร โดยคนใกล้ชิดอาจช่วยซื้ออาหาร ส่งอาหาร หรือทำอาหารให้ผู้ป่วยด้วย
การรักษาอาการหรือโรคต้นเหตุ
หากโรคขาดสารอาหารเกิดจากการเจ็บป่วยใด ๆ แพทย์จะรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงวางแผนรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย
หลังได้รับการรักษา แพทย์อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อดูว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรคขาดสารอาหารแล้ว
ภาวะแทรกซ้อนของโรคขาดสารอาหาร
หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง แผลหายช้า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ คุณภาพชีวิตต่ำ สุขภาพแย่ลงกว่าเดิม มีปัญหาด้านการใช้ชีวิตในสังคม มีสภาพจิตใจไม่ปกติ กระบวนการทางความคิดมีประสิทธิภาพลดลง หรือต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่เข้าข่ายโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
การป้องกันโรคขาดสารอาหาร
วิธีที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยป้องกันภาวะขาดสารอาหารได้ คือ การรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงอย่างผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี และรับประทานอาหารจำพวกแป้งให้เพียงพอ เช่น ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง เป็นต้น รวมถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมด้วย